คำนวณว่าเราใช้ไฟฟ้ามากน้อยแค่ไหนเบื้องต้น ด้วยการดูบิลค่าไฟฟ้าย้อนหลัง 3 เดือนขึ้นไป และดูปริมาณที่เราใช้ไฟฟ้าในตอนกลางวันมากน้อยแค่ไหน เอามาเปรียบเทียบกับปริมาณการใช้ไฟฟ้าในตอนกลางคืน เราจะได้เห็นว่าเราจะสามารถลดค่าไฟฟ้าช่วงกลางวันไปได้เท่าไร พฤติกรรมการใช้ไฟฟ้าของเราจะเป็นเหมือนแนวทางให้เราเลือกและตัดสินใจได้ว่าเราจะติดตั้งระบบ Solar Rooftop ขนาดเท่าไหร่ถึงจะคุ้มค่าที่สุด!!
*กลุ่มโรงงานขนาดใหญ่ ก็สามารถติดตั้งได้เช่นกันโดยการคำนวณว่าใช้ไฟฟ้ามากน้อยเพียงใดตามข้อมูลเบื้องต้นด้านบน
สำรวจระบบไฟฟ้าภายในบ้านว่าเราใช้งานระบบไฟฟ้าเป็นแบบ 1 Phase หรือ 3 Phase สามารถตรวจสอบได้ที่ มิเตอร์ไฟฟ้าหน้าบ้าน ถ้า 1 Phase จะมีระบุไว้ว่า ค่าแรงดัน 220 V ถ้าเป็น 3 Phase จะมีระบุไว้ว่า ค่าแรงดัน 3×220/380 V หรือสังเกตสายไฟที่เสาไฟฟ้าว่าเข้ามาที่บ้านกี่เส้น ถ้า 1 Phase จะเห็นเพียง 2 เส้น ถ้า 3 Phase จะเห็นเพียง 4 เส้น
สำรวจพื้นที่หลังคาเพื่อติดตั้งแผงโซล่าเซลล์ ว่าใช้หลังคาประเภทไหนและการวางแผงโซล่าเซลล์ทิศที่ดีที่สุดคือทิศใต้ รองลงมาคือทิศตะวันอออกและทิศตะวันตก ซึ่งทิศเหนือจะเป็นลำดับสุดท้ายที่ตัดสินใจเลือกติดตั้งเนื่องจากดวงอาทิตย์ ขึ้นจากทิศตะวันออก โดยอ้อมไปทางทิศใต้ ทำให้ทิศเหนือของประเทศไทย เป็นทิศที่ได้รับแสงแดดน้อยที่สุด และอีกปัจจัยในการเลือกติดตั้งแผงโซล่าเซลล์คือพื้นที่การติดตั้งว่ามีเพียงพอหรือไม่
ตามกฏกระทรวงมหาดไทย ปี 2558 ลงวันที่ 1 ต.ค. 2558 ที่ระบุว่า ติดแผงโซล่าเซลล์ บนหลังคาขนาดพื้นที่ไม่เกิน 160 ตารางเมตร และมีน้ำหนักรวมไม่เกิน 20 ก.ก. ต่อตารางเมตร โดยต้องมีผลการตรวจสอบความมั่นคงแข็งแรงที่กระทำและรับรองโดยวิศวกรโยธาตามกฎหมายว่าด้วยวิศวกรว่าสามารถติดตั้งได้อย่างปลอดภัย และแจ้งให้เจ้าพนักงานท้องถิ่นทราบก่อนดำเนินการ ซึ่งการกระทำดังกล่าวไม่ถือเป็นการดัดแปลงอาคาร จึงไม่ต้องขอใบอนุญาต อ.1 เพียงแต่ยื่นคำร้องแจ้งให้ทราบ
ตรวจสอบค่าใช้จ่ายในการติดตั้งระบบ Solar Rooftop
ยกตัวอย่างค่าใช้จ่ายคร่าวๆ คิดที่กำลังติดตั้ง 1,000 W หรือ 1 kW จะมีค่าใช้จ่ายเริ่มต้นที่ 35,000 บาท ถึง 45,000 บาท เป็นค่าใช้จ่ายรวมทุกอย่างแล้วทั้ง ค่าบริการติดตั้ง และอุปกรณ์ต่างๆ ทั้งนี้การติดตั้ง 1 kW สามารถลดค่าไฟฟ้าได้ประมาน 500 – 700 บาทต่อเดือนครับ หากขนาดติดตั้งใหญ่กว่านี้ก็นำมาคูณกับอัตราการประหยัดตัวนี้ได้เลย
เริ่มติดตั้งระบบ Solar Rooftop โดยเลือกใช้บริษัทที่มีความน่าเชื่อถือ ประวัติการติดตั้งงาน เลือกใช้อินเวอร์เตอร์ที่มีคุณภาพ และเลือกแผงโซล่าเซลล์ที่เหมาะสม และต้องเช็คว่าสิ่งที่แนะนำก่อนหน้านี้กับอุปกรณ์ที่นำมาติดจริงตรงกันหรือไม่อย่างไร เพราะทุกอย่างจะอยู่กับเราไปอีกนาน ทางเราก่อนส่งมอบงานจะมีการตรวจสอบ ดังนี้
วัดค่าแรงดันไฟฟ้าของแผงโซล่าเซลล์
-ให้เป็นไปตามจำนวนแผงxค่าแรงดันของแผงโซล่าเซลล์ (ตัวเลขที่วัดได้มีการปรับเปลี่ยนขึ้นอยู่กับแสงอาทิตย์)
วัดค่าไฟฟ้าทางด้านไฟ AC ของมิเตอร์กันย้อน
-ให้เป็นไปตามค่าแรงดัน(V) ตามระบบไฟฟ้า ถ้า 1 Phase จะอยู่ที่ 220-240 V ถ้า 3 Phase จะอยู่ที่ 380-400 V
-ให้เป็นไปตามค่ากระแสไฟ(A) ตามการใช้งานของ Load ที่เป็นใช้อยู่
วัดค่าความเป็นฉนวนของสายไฟ
-ให้เป็นไปตามมาตรฐานใช้การปล่อยแรงดัน 500 V (DC) เข้าไปในระบบสายส่ง ข้อแนะนำควรดูสเปคสายไฟก่อนว่าทนแรงดันที่ 500 V ได้หรือไม่ และการทดสอบควรปลดสายทั้งสองฝั่งออกจากเบรกเกอร์ และโหลดที่ต่ออยู่ เพราะอาจทำให้เครื่องใช้ไฟฟ้าเสียหายได้ ค่าที่ได้มาตรฐานไม่ต่ำกว่า 1 เมกะโอห์ม
วัดค่าความต้านทานดิน
-ให้เป็นไปตามมาตรฐานไม่ควรเกิน 5 โอห์ม สำหรับพื้นที่ยากในการปฎิบัติ ถ้าความต้านทานของหลักดินเกิน 5 โอห์ม และทางการไฟฟ้าเห็นชอบว่าพื้นที่ยากในการปฎิบัติอาจกำหนดให้มีค่าไม่เกิน 25 โอห์ม ได้
เมื่อติดตั้งแล้วเสร็จ เรื่องการบำรุงรักษาก็เป็นสิ่งสำคัญ อย่างเช่น การล้างแผงโซล่าเซลล์ ควรทำความสะอาดทุกๆ 6 เดือน – 1 ปี/ครั้ง เพียงแค่ใช้น้ำสะอาดฉีดล้างและเช็ดถูหน้าแผง ซึ่งโซล่าเซลล์จะสามารถผลิตกระแสไฟฟ้าให้กับบ้านเรานานประมาณ 25 ปีโดยมาตรฐาน (หากดูแลรักษาดีสามารถใช้งานนานถึง 30 ปี) และไม่ต้องกังวลว่าเครื่องใช้ไฟฟ้าจะมีผลกระทบในด้านต่างๆหรือไม่ เนื่องจากเป็นระบบ On-Grid หากระบบ Solar Rooftop ผลิตได้น้อยกว่าความต้องการใช้ไฟฟ้าภายในบ้าน ระบบจะดึงพลังงานไฟฟ้าจากการไฟฟ้ามาใช้ร่วมกันอย่างต่อเนื่อง และมีเสถียรภาพครับ
การขออนุญาตขนานไฟฟ้า โดยเบื้องต้นให้เราแจ้งขออนุญาตติดตั้งแผงโซล่าเซลล์ที่เขตโยธาท้องถิ่นที่เราอาศัยอยู่ ทางเขตโยธาจะส่งวิศวกรมาสำรวจหลังคาบ้านของเราว่ามีความพร้อมติดตั้งหรือไม่ เมื่อผ่านขั้นตอนแรกแล้วเราจะต้องไปติดต่อ คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) เพราะเป็นหน่วยงานที่มีหน้าที่ รับเรื่องและให้คำปรึกษาเกี่ยวกับการขอใบอนุญาตการประกอบกิจการ พลังงานตามประเภท ขนาดและลักษณะของกิจการพลังงาน ตลอดจน ตรวจสอบการและสนับสนุนการดำเนินการตามหลักเกณฑ์ วิธีการและเงื่อนไขการออกใบอนุญาตทั้งก่อนและหลังในเขตพื้นที่ที่รับผิดชอบ และเราจะต้องทำเรื่องขออนุญาตการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (PEA) หรือการไฟฟ้านครหลวง (MEA.) ในเขตพื้นที่ที่บ้านเราตั้งอยู่โดยส่งแบบแปลน 2 แบบไปให้การไฟฟ้าฯพิจารณา แบบที่ 1 เรียกว่า “ส่งแบบ Single Line Diagram” เป็นแปลนระบบไฟฟ้า และแบบที่ 2 เป็นแปลนอินเวอร์เตอร์ เพื่อให้ทางการไฟฟ้าฯตรวจสอบ และชำระค่าธรรมเนียมของการไฟฟ้าประมาณ 2,140 บาท ถึงจะเริ่มติดตั้งโซล่าเซลล์ได้
*ปัจจุบันหากเป็นบริษัท จะดำเนินการขออนุญาตแทนเราได้โดยที่เราไม่ต้องเสียเวลา เพียงแค่เตรียมเอกสารดังนี้
– สำเนาบัตรประจำตัวประชาชนเจ้าของมิเตอร์ไฟฟ้า
– ทะเบียนบ้านที่ติดตั้งระบบโซล่าเซลล์
– บิลค่าไฟฟ้าของอาคารที่ติดตั้ง (ไม่ควรเกิน 3 เดือน)
*ทั้งนี้ขนาดกำลังการผลิตติดตั้งของระบบโซล่าเซลล์ ต้องไม่เกินขนาดการขอใช้ไฟฟ้าที่ได้รับอนุมัติจากการไฟฟ้าฯ ดังนี้
– มิเตอร์ไฟฟ้า 5(15)A 1 Phase ติดตั้งได้ไม่เกิน 2.3 kW
– มิเตอร์ไฟฟ้า 15(45)A 1 Phase ติดตั้งได้ไม่เกิน 6.9 kW
– มิเตอร์ไฟฟ้า 30(100)A 1 Phase ติดตั้งได้ไม่เกิน 17.3 kW
– มิเตอร์ไฟฟ้า 50(150)A 1 Phase ติดตั้งได้ไม่เกิน 23 kW
– มิเตอร์ไฟฟ้า 15(45)A 3 Phase ติดตั้งได้ไม่เกิน 20.8 kW
– มิเตอร์ไฟฟ้า 30(100)A 3 Phase ติดตั้งได้ไม่เกิน 52 kW
– มิเตอร์ไฟฟ้า 50(150)A 3 Phase ติดตั้งได้ไม่เกิน 69.3 kW
– มิเตอร์ไฟฟ้า 200A 3 Phase ติดตั้งได้ไม่เกิน 138.6 kW
– มิเตอร์ไฟฟ้า 400A 3 Phase ติดตั้งได้ไม่เกิน 277.1 kW